?>
แชร์บทความนี้

รู้ก่อนใคร ห่างไกลโรค ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี

หลายคนคงพยายามอย่างมากเพื่อเข้านอนแปดชั่วโมงในแต่ละคืน เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายสักสองสามชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ แน่นอนว่าบางคนอาจอายุยังน้อยและคิดว่ามีสุขภาพที่ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีก็ได้ แต่เราจะแน่ใจ 100 % ได้อย่างไรล่ะ?

การตรวจสุขภาพประจำปีสำคัญกว่าที่คิดค่ะ เพราะเราเห็นแค่ภายนอก ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในร่างกายของเรามีจุดไหนที่กำลังเสื่อมสภาพหรือป่วยอยู่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการตรวจหาโรคต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีนั่นเองค่ะ ในบทความนี้เราจะพาไปตรวจสุขภาพและการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพกันค่ะ

ตรวจสุขภาพประจำปี ดีอย่างไร?

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน เพราะร่างกายของเรามีอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา และเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่เราสามารถตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายของเราได้ นั่นคือการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเป็นการค้นหาโรคต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเรา ตั้งแต่ระยะแรก ไปจนถึงระยะที่สามารถรักษาได้ ทำให้เราสามารถได้รับการรักษาที่เหมาะสม ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปี ยังช่วยให้ทราบถึงผลของการดูแลสุขภาพที่ดีที่เราได้สะสมมา และเพิ่มความมั่นใจให้กับเราในการดูแลสุขภาพให้ดีนั่นเองค่ะ

ใครบ้างที่ต้องตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย สามารถตรวจได้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งวิธีการตรวจจะแตกต่างกันออกไป โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ นั่นคือ

  • การตรวจสุขภาพในวัยเด็ก

โดยปกติแล้วสำหรับการตรวจสุขภาพสำหรับวัยเด็ก จะเป็นการตรวจร่างกาย เพื่อดูพัฒนาการและการเจริญเติบโต เป็นหลัก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องวัคซีนต่าง ๆ ตามช่วงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ นั่นเองค่ะ

  • การตรวจสุขภาพวัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงาน

การตรวจสุขภาพของกลุ่มนี้ จะมีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปี เป็นการตรวจสอบสภาพร่างกายเพื่อค้นหาโรคต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยจะมีการตรวจตั้งแต่ การตรวจความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ ส่วนสูง การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอ็กซ์เรย์ทรวงอก การตรวจปัสสาวะ และยังมีการตรวจอื่น ๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับโปรแกรมการตรวจนั้น ๆ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้าตรวจการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร เพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ค่ะ

  • การตรวจสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ

กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพแบบเบื้องต้นค่ะ เพื่อประเมินสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย สมอง รวมถึงความหนาแน่นของกระดูก การตรวจสอบสมรรถภาพหัวใจต่าง ๆ เพื่อป้องกันและได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ตรวจสุขภาพประจำปีควรตรวจโรคอะไรบ้าง?

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการค้นหาสาเหตุและป้องกันการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ในร่างกายของเรา และเพิ่มโอกาสการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งโรคที่ควรตรวจหาได้แก่

  • โรคมะเร็ง (มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้, มะเร็งตับ, มะเร็งปากมดลูก)
  • โรคหัวใจ
  • โรคความดันโลหิต
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับอักเสบ
  • โรคไต
  • โรค HIV (เอดส์)
  • โรคปอด
  • ฯลฯ

นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับเราได้ ซึ่งโปรแกรมการตรวจสุขภาพ อาจขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้น ๆ ที่เราเลือกค่ะ

ก่อนเริ่มตรวจสุขภาพจะต้องเตรียมตัวอย่างไร?

1.พักผ่อนอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ

2.งดอาหาร 8 – 10 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ในระหว่างที่งดอาหารสามารถจิบน้ำเปล่าได้

3.งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง

4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้นำเอกสารติดตัวไปด้วย และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน

4.งดสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะบุหรี่จะทำให้ความดันโลหิตสูง

5.สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน ควรตรวจก่อน หรือหลังมีประจำเดือน อย่างน้อย 7 วัน

6.สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย สะดวกไม่อึดอัด เนื่องจากต้องเจาะเลือด

7.หากตั้งครรภ์ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการป้องกันโรคร้ายแรง หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ และยังช่วยให้ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคตนั่นเองค่ะ

อ้างอิง

  • “มาฟังข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี” (www.vejthani.com)
  • “ตรวจสุขภาพประจำปี ควรตรวจความเสี่ยงโรคอะไรบ้าง” (www.sikarin.com)

 


แชร์บทความนี้