?>
แชร์บทความนี้

สุขภาพดี พิชิตเบาหวาน

“โรคเบาหวาน” เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้จักโรคนี้กันนะคะ เรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตในวัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุเลยก็ว่าได้ค่ะ แถมมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดได้จากการกินรสหวานมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นโดนัท อาหารรสหวาน ขนมหวานต่าง ๆ อาหารเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการสะสมของโรคเบาหวานนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอด ตาฟาง ไตวาย โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจ การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นวิธีป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ค่ะ

โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นสภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่ได้จากการกินอาหารไปใช้ได้ตามปกติ ซึ่งปกติเมื่อเรากินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไป อาหารจะถูกย่อยและดูดซึมเพื่อให้เซลล์นำไปใช้งานได้ อินซูลินเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาน้ำตาลเข้าไปเซลล์ เพื่อให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้ปกติ โรคเบาหวานจึงเกิดจากร่างกายที่ขาดอินซูลิน หรืออินซูลินออกฤิทธิ์ได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เซลล์ไม่ได้รับน้ำตาลไปใช้งานตามปกติ เกิดการสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือที่เรียกว่า โรคเบาหวานนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา หัวใจ ไต หลอดเลือด และระบบประสาทของเราได้

โรคเบาหวานแบ่งได้ 2 ชนิด

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบได้ในเด็กและวัยหนุ่มสาว

เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์อินซูลินในตับอ่อน (หรือที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง) ซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอายุน้อย แต่สามารถรักษาได้โดยการฉีดอินซูลินเข้าไป หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบได้ในวัยผู้ใหญ่และคนที่อ้วน หรือมีน้ำหนักมาก

มักพบในผู้ที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่หรือน้อง (แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของผู้เป็นเบาหวานจะต้องเป็นเบาหวานเสมอไป) ซึ่งเกิดจากเซลล์ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ แต่ตับอ่อนยังสร้างอิซูลินได้อยู่ สามารถรักษาโดยยารักษาโรคเบาหวาน หรือฉีดอิซูลินเข้าไป และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

น้ำตาลแบบไหนที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

มาเช็คน้ำตาลกันค่ะ น้ำตาลชนิดไหนกินได้ ชนิดไหนต้องระวัง น้ำตาลไม่ใช่พระเอกและผู้ร้าย กินมากไปก็ไม่ดี จะไม่กินเลยก็ไม่ได้ อาจจะต้องมองหาน้ำตาลทางเลือกมาเยียวยาความหวานแทน ก่อนอื่นขอเริ่มจากน้ำตาลธรรมชาติเสียก่อน น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องแน่ใจว่าน้ำตาลนั้นได้มาจากธรรมชาติจริง ๆ และผ่านกระบวนการน้อยที่สุด ซึ่งน้ำตาลที่เรากินอยู่บนโต๊ะกินข้าวทุกวันนี้ ทำมาจากอ้อยที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะขัดสี หรือแปรรูป เช่น น้ำตาลทรายขาว ที่ผ่านกระบวนการมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ นั้นหมายความว่า น้ำตาลเหล่านี้แทบจะไม่มีแร่ธาตุหรือวิตามินหลงเหลืออยู่ ทั้งที่ปกติแล้วอ้อยที่นำมาผลิตนั้นมีวิตามินและแร่ธาตุอยู่มาก น้ำตาลทรายแปรรูปจึงทำให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานหนักขึ้น และทำให้เอนไซม์ในร่างกายทำงานหนักขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เอง น้ำตาลทรายจึงเป็นตัวทำให้ร่างกายเราป่วย ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงควรลดน้ำตาลแปรรูป และควรเลือกบริโภคอาหารจากธรรมชาติหรืออาหารที่ปรุงด้วยน้ำตาลธรรมชาติจะดีที่สุดค่ะ หากทำได้ลองเลือกหาน้ำตาลแปรรูปจากร้านอาหารที่ขายอาหารธรรมชาติจะดีที่สุดเลยค่ะ

น้ำตาลทราย หรือก็คือ “น้ำตาลซูโครส (Sucrose)” นั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด ความเสื่อมสภาพของร่างกาย และทำให้แก่เร็วขึ้นหากบริโภคมากเกินไป น้ำตาลซูโครส (Sucrose) ประกอบด้วยโมเลกุลโมโนแซ็คคาไรด์ 2 ชนิด คือ ฟรุกโตส และ กลูโคส น้ำตาลชนิดนี้ถูกแปรรูปจากธรรมชาติในพืชต่าง ๆ เช่น อ้อย มะพร้าว ที่เราใช้ประกอบอาหารนั่นเองค่ะ

ส่วนน้ำตาล ฟรุกโตส (Fructose) น้ำตาลที่ดูดซึมเข้าสู่ลำไส้ได้ง่าย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียดีในลำไส้ให้ทำงานน้อยลง เพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ไม่ดี ทำให้ภูมิคุ้มกันของเราแย่ลงนั่งเอง นอกจากนี้ยังซึมเข้าสู่ตับของเราได้ง่ายเช่นกัน หากบริโภคบ่อย ๆ เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการอักเสบของตับทีละน้อย ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้ เมื่อเวลานานเข้าก็จะกลายเป็นโรคตับแข็งไปในที่สุด เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า น้ำตาลไม่ได้เป็นพระเอกหรือผู้ร้ายเสมอไป

อย่างไรก็ตาม น้ำตาลก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง น้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงานที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งน้ำตาล 1 ช้อนชา ให้พลังงานมากถึง 16 กิโลแคลอรี่ ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหดตัวได้ดี ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี และยังช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมออีกด้วย แต่ไม่ว่าจะน้ำตาลชนิดไหน ก็ไม่ควรบริโภคมากเกินไปนะคะ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน

สำหรับโรคเบาหวาน อาจเกิดขึ้นจากพันธุกรรม พ่อ แม่ พี่หรือน้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะเป็นเบาหวานเสมอไปนะคะ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการบริโภคอาหารที่มีรสหวานอยู่บ่อย ๆ นั่นเองค่ะ นอกจากนี้พฤติกรรมอื่น ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความอ้วน การไม่ออกกำลังกาย ความเครียด การมีอายุที่มากขึ้นซึ่งจะได้รับความเสี่ยงในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป สิ่งเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวานทั้งสิ้นค่ะ

ออกกำลังกาย พิชิตเบาหวานต้านทานโรค

การออกกำลังกายนอกจากจะสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคปอด และที่สำคัญยังช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ดีอีกด้วยค่ะ ซึ่งการออกกำลังกายสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้

ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

เพราะประโยชน์ของการวิ่งมีมากมาย และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สามารถทำได้ทุกที่

โดยเริ่มจากการวอร์มอัพ 5 – 10 นาที จากนั้นเริ่มออกวิ่ง 30 นาที จากนั้นค่อยเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดินอีก 10 นาทีเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย หรือที่เรียกว่า การคูลดาวน์นั่นเอง

ออกกำลังกายด้วยการฝึกความแข็งแรง ซึ่งมี 2 วิธี

1.การกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ออกแรงขณะอยู่นิ่ง ๆ หรือที่เรียกว่า “Static Strength Training”

เช่น ขณะที่ยกดัมบ์เบลที่มีน้ำหนักพอสมควร ให้ชูขึ้นเหนือหัว แล้วค้างไว้ 20 – 30 วินาที หรือเท่าที่เราไหว แต่ไม่ควรน้อยกว่า 20 วินาทีขึ้นไป เพื่อเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้หลายส่วนไม่ว่าจะเป็น หน้าอก ไหล่ แขน กล้ามเนื้อแผ่นหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้อง

2.การยืดหดกล้ามเนื้อไปพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า “Dynamic strength training”

เช่น การใช้แรงต้านอย่าง การดึงยางยืด พร้อมกับในขณะที่ดึง จะทำให้เกิดกระตุ้นกล้ามเนื้อหน้าอก แขน หัวไหล่และขา เมื่อกล้ามเนื้อต่าง ๆ เหล่านี้ได้ออกแรง ทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เมื่อมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นน้ำตาลก็จะถูกนำไปเผาผลาญได้มากขึ้น ทำให้การออกกำลังกายในรูปแบบนี้ช่วยให้ลดน้ำตาลในเลือดได้ดีมากนั่งเอง

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise)

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเต้นแอโรบิก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเจอตามสวนสาธารณะ จะเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเต้นอย่างพร้อมเพียงกัน แล้วมีเสียงเพลงประกอบ จากนั้นจะเปลี่ยนท่าไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราสามารถไปร่วมแจมได้ การออกกำลังกายแบบนี้ยังช่วยให้เผาผลาญไขมันได้ดี ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น สูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ดีอีกด้วย

โรคเบาหวาน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศหรืออายุก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้นค่ะ ยังไม่สายเกินไปหากเราเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เช่น ลดการกินอาหารที่มีรสหวานลง เลือกน้ำตาลจากธรรมชาติ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้แล้วค่ะ

อ้างอิง


แชร์บทความนี้